วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ


วรรณกรรมพื้นบ้าน  หมายถึง  ผลงานที่เกิดขึ้นจากการใช้ภาษาโดยการพูดและการเขียนของกลุ่มชนในแต่ละท้องถิ่น เช่น วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ วรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นก็จะใช้ภาษาพื้นบ้านในการถ่ายทอดเป็นเอกลักษณ์
วรรณกรรมที่สื่อเรื่องราวด้านต่างๆ ของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น จารีตประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนความเชื่อต่างๆ ของบรรพบุรุษ อันเป็นพื้นฐานของความคิดและพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน
ลักษณะของวรรณกรรมพื้นบ้าน
๑.     เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากมุขปาฐะ คือ เป็นการเล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากและแพร่หลายกันอยู่ในกลุ่มชนท้องถิ่น
๒.   เป็นแหล่งข้อมูลที่บันทึกข้อมูลด้านขนบธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนท้องถิ่น อันเป็นแบบฉบับให้คนยุคต่อมาเชื่อถือและปฏิบัติตาม
๓.    มักไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เพราะเป็นเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปาก
๔.    ใช้ภาษาท้องถิ่น ลักษณะถ้อยคำเป็นคำง่ายๆ สื่อความหมายตรงไปตรงมา
๕.    สนองความต้องการของกลุ่มชนในท้องถิ่น เช่น
-          เพื่อความบันเทิง
-          เพื่ออธิบายสิ่งที่คนในสมัยนั้นยังไม่เข้าใจ
-          เพื่อสอนจริยธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีและพฤติกรรมด้านต่างๆ
ประเภทของวรรณกรรมพื้นบ้าน
จำแนกโดยอาศัยเขตท้องถิ่นได้ ๔ ประเภท คือ
-          วรรณกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ (วรรณกรรมล้านนา)
-          วรรณกรรมพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
-          วรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้
-          วรรณกรรมพื้นบ้านภาคกลาง
จำแนกตามวิธีการบันทึก ได้ ๒ ประเภท คือ
-          วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ใช้วิธีเล่าจากปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
-          วรรณกรรมลายลักษณ์อักษร หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
๑.     นิทานพื้นบ้านของภาคเหนือ
๑.๑ นิทานพื้นบ้านของภาคเหนือมีดังนี้
เรื่องที่
ชื่อเรื่อง
ปู่อ้ายท้ายเลิ้ก
ปู๋เซ็ดค่ำลัวะ
ปุ๋ยลำไย
ดนตรีธรรมชาติ
สองสัตว์
สามสหายไปเรียนวิชา
เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา
กะตำป๋าค่ำตุ๊
พี่น้องสองชาย
๑๐
นักเลงปืนเสียท่า
๑๑
อ้ายก้องขี้จุ๊
๑๒
แก้พิษตามราศี
๑๓
ขายปัญญา
๑๔
เซี่ยงเมี่ยงแบ่งช้าง
๑๕
ผาเผียบ
๑๖
กบกินเดือน
๑๗
ใครโง่กว่าใคร
๑๘
ย่าผันคอเหนียง


๑๙
ผาวิ่งชู้
๒๐
ตำนานเสือเย็น
๒๑
ชะตามะกอกแห้ง
๒๒
เชียงดาว
๒๓
บุญของตา
๒๔
วิธีปราบลิง
๒๕
ควายลุงคำ
๒๖
เมืองลับแล
๒๗
ไอ้เปลี้ยกับไอ้ตา
๒๘
เป๋นจะใดจั๊กจั่นถึงบ่มีไส้
๒๙
ผานางคอย
๓๐
นากกับกระต่าย
๓๑
ผีป๊กกะโล้งจำแลง
๓๓
วังบัวบาน
๓๔
ถ้ำตับเต่า
๓๕
เมืองวานร
๓๖
เหล็กน้ำพี้
๓๗
เจ้าพ่อขุนตาล
๓๘
ทำดีได้ดี
๑.๒  ตัวอย่างนิทานพื้นบ้านของภาคเหนือ

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ทำดีได้ดี
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทุกคนล้วนใจบุญสุนทาน และฟังเทศน์ฟังธรรมมิได้ขาด ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขหมู่บ้านแห่งนี้มีลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่ออานันต์ ที่ศึกษาเล่าเรียนและบวชเรียนตามประเพณีนิยมมาอย่างครบถ้วน ครั้นเจริญวัยขึ้นก็ประกอบอาชีพค้าขายตามแบบอย่างบิดา และชอบออกเดินทางไปค้าขายในต่างถิ่น อีกทั้งยังเป็นคนที่มีความขยันขันแข็งในการทำมาหากิน และมีความประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา ใจ ท่านเศรษฐีจึงรักและภาคภูมิใจยิ่งนัก
วันหนึ่งอานันต์พร้อมกับคนรับใช้ 3-4 คน ออกเดินทางไปค้าขายยังต่างเมืองตามปกติ จนใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง ก็ถูกพวกโจรป่าที่ดักซุ่มอยู่ระหว่างทางเข้าปล้นทรัพย์สมบัติและสินค้าต่าง ๆ ไปจนหมด อานันต์และคนรับใช้ต่างพากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงเพื่อเอาชีวิตรอด โดยอานันต์พลัดหลงเข้าไปในป่ากับคนรับใช้ที่ชื่อจุลทะ กระทั่งพลบค่ำจึงพากันเดินออกมาพ้นเขตป่าถึงประตูเมือง แต่ก็ไม่สามารถเข้าเมืองได้เพราะประตูเมืองปิด อานันต์กับจุลทะจึงไปขออาหารมาจากชาวสวนชาวไร่ที่อยู่นอกเมืองมาประทังความหิว โดยมาพักรับประทานอาหารอยู่ที่ศาลาวัดนอกเมือง
เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองคนก็นั่งคุยกัน
“ท่านอานันต์ขอรับ พรุ่งนี้ท่านจะเข้าเมืองหรือกลับบ้านขอรับ” จุลทะเอ่ยถาม
“ฉันต้องเข้าไปทำธุระในเมืองก่อนเสร็จธุระแล้วจึงจะกลับบ้าน แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าคนอื่น ๆ จะเป็นอย่างไรกันบ้าง ได้รับบาดเจ็บหรือเปล่าก็ไม่รู้” อานันต์พูดด้วยน้ำเสียงเป็นห่วง
“คงไม่เป็นไรหรอกขอรับ พวกโจรป่ามันต้องการแค่ทรัพย์สินเท่านั้น” จุลทะพูดปลอบใจ
“ฉันก็ขอให้เป็นเช่นนั้น เอาละ นอนพักผ่อนกันได้แล้ว วันนี้ฉันเหนื่อยล้าเหลือเกิน” อานันต์ตัดบท
“เดี๋ยวก่อนขอรับ กระผมยังไม่ง่วงเลย ยังตื่นเต้นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ อยากให้ท่านเล่าเรื่องพระชาติต่าง ๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีให้กระผมฟังขอรับ” จุลทะร้องขอ
“กรุณาเถอะขอรับ กระผมนอนไม่หลับจริง ๆ” จุลทะพูดต่อ
“ถ้าเช่นนั้นเจ้าก็สวดชุมนุมเทวดาก่อนก็แล้วกันเสร็จแล้วฉันจะเล่าให้ฟัง” อานันต์ยอมทำตามคำขออย่างอ่อนใจ
แล้วจุลทะก็เริ่มสวดชุมนุมเทวดา พอสวดจบอานันต์ก็เผลอหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย จุลทะจึงปลุกเจ้านาย แต่อานันต์ง่วงเหลือเกิน จึงบอกปัดด้วยเสียงงัวเงีย ๆ ว่าจะเล่าให้ฟังในวันพรุ่งนี้ แล้วนอนหลับสนิททันที
ฝ่ายจุลทะก็ล้มตัวลงนอนบ้าง แต่ก็นอนไม่หลับกระสับกระส่ายพลิกตัวกลับไปกลับมาจนดึกสงัด ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังคุยกันอยู่บนขื่อศาลาวัด จุลทะตกใจนึกว่าโจรป่าตามมาดักซุ่มทำร้าย ก็เงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ ครั้นฟังมาก็รู้ว่าเป็นผู้ที่ไม่หวังดีคอยมาทำร้ายอานันต์เจ้านายของตน จึงค่อย ๆ ย่องไปแอบฟังใกล้ ๆ
“จุลทะนี่เหลวไหลมาก เชิญเรามาชุมนุมเพื่อฟังพระสูตร แต่ไม่เห็นสวดอะไรเลย ส่วนอานันต์เราจะต้องฆ่าให้ตาย เพราะเป็นผู้ไม่มีวาจาสัตย์ พูดแล้วไม่ทำตามที่พูดไว้” เสียงของเทวดาองค์หนึ่งดังขึ้นมาด้วยความโกรธ
“ท่านเป็นเทวดา แล้วจะฆ่าเขาด้วยวิธีใด” เสียงของเทวดาอีกองค์หนึ่งถามด้วยความสงสัย
“การฆ่าอานันต์นั้นไม่ยากเลยสักนิด เวลาเช้าเราก็เอายาพิษไปใส่ไว้ในแสงแดดให้กลายเป็นแสงพิษ พอเช้าเมื่อแสงแดดส่องเข้าตา อานันต์ก็จะตายหรือมีอายุสั้นลง” เสียงเทวดาองค์แรกพูดชื่นชมในความฉลากหลักแหลมของตน
“ถ้าอานันต์ตื่นตั้งแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วรีบไปล้างหน้าก็จะไม่เป็นอันตราย เพราะยาพิษของท่านจะทำร้ายเฉพาะคนที่ตื่นขึ้นมาพบแสงแดดก่อนล้างหน้าเท่านั้น” เสียงของเทวดาองค์หนึ่งแย้งขึ้นมา
“ถ้าเช่นนั้น พอตอนกลางวัน ถ้าอานันต์ทำงานมาเหนื่อยๆ เราก็เอายาพิษแอบไปใส่ไว้ที่หน้าอกตรงหัวใจเพราะกลางวันอากาศร้อนมาก พอเหงื่อไหลออกมาอานันต์ก็จะตาย” เสียงของเทวดาองค์แรกยังคงเสนอวิธีฆ่าอานันต์
“แต่พอถึงกลางวัน ถ้าอานันต์ทำงานมาเหนื่อย ๆ ร้อนก็ร้อน เขาจะเอาน้ำมาลูบหน้าอกเพื่อคลายร้อน ซึ่งพิษนั้นจะจางไปเองโดยที่เขาไม่ได้รับอันตรายใด ๆ ” เทวดาองค์หนึ่งเอ่ยถึงวิธีแก้ไข
“ถ้าเช่นนั้น เราจะเอายาพิษใส่ลงไปในน้ำดื่ม เวลาที่อานันต์กินข้าว จะต้องดื่มน้ำนั้นเมื่อกินอิ่มแล้ว พอเขาดื่มน้ำเข้าไปเขาก็จะตายทันที” เทวดาองค์แรกยังคงเสนอวิธีฆ่าอานันต์ต่อไป
“ถ้าเขารินน้ำออกเสียนิดหน่อย ก็จะไม่ได้รับอันตรายเพราะยาพิษของท่านจะลอยอยู่เหนือน้ำเท่านั้น” เทวดาอีกองค์หนึ่งหาวิธีแก้ไขได้
“ถ้าอานันต์ยังคงไม่ตายอีก เราก็จะเอายาพิษไปป้ายไว้ที่หางใบพลู เพราะเมื่อกินข้าวกินน้ำเรียบร้อยแล้ว อานันต์จะต้องเคี้ยวหมากหลังอาหาร” เทวดาองค์แรกยังคงคิดหาวิธีฆ่าอานันต์
“นายอานันต์คนนี้เป็นผู้ที่เคยบวชเรียนเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นผู้ที่มีใจบุญสุนทาน ทำแต่ความดีมาตลอด การที่ท่านจะทำอันตรายเขานั้นยากยิ่งนัก เพราะกุศลผลบุญต่าง ๆ ที่เขาทำไว้ จะคอยปกป้องคุ้มครองให้เขาพ้นจากภัยพิบัติร้ายแรงทั้งมวล ดังนั้น ถ้าอานันต์จะกินหมากเขาก็เด็ดหางพลูออกนิดหนึ่งแล้วอานันต์ก็จะปลอดภัย” เทวดาอีกองค์หนึ่งยังค้านต่อไป
“แต่เราจะยอมให้อานันต์มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นคนใจบุญสุนทานแต่เขาก็ไม่มีวาจาสัตย์ เขาจะต้องตายอย่างแน่นอน เราจะทำให้เขาตายดี ๆ นอนหลับแล้วตายไปอย่างสบาย เพราะเราจะเอายาพิษไปป้ายไว้ที่ฝ่าเท้า พอเข้านอนเขาก็จะหลับสบายไม่ตื่นขึ้นมาอีก” เทวดาองค์แรกยังไม่ลดละความพยายามที่จะฆ่าอานันต์
“ถ้าอานันต์ล้างเท้าก่อนเข้านอน เขาก็จะไม่ได้รับอันตรายอีกเหมือนกัน” เทวดาองค์เดิมส่งเสียงแย้งขึ้นมา
ฝ่ายจุลทะที่แอบฟังเทวดาปรึกษาหารือกันจนกระทั่งหลับ พลันสะดุ้งตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงระฆังสัญญาณให้พระภิกษุทำวัตรเช้า ซึ่งตรงกับเวลา 5 นาฬิกาพอดี จุลทะนึกถึงคำพูดของเทวดาเมื่อคืนนี้ รีบวิ่งไปปลุกอานันต์ที่ยังคงนอนหลับสนิท ครั้นอานันต์ตื่นขึ้นมา จุลทะก็เล่าเรื่องราวที่ได้ยินมาทั้งหมดให้อานันต์ฟังอย่างละเอียด
จากนั้นจุลทะจึงบอกให้อานันต์ไปล้างหน้าก่อนฟ้าจะสางเพื่อแก้พิษของเทวดาพอถึงเวลากลางวันก็ให้อานันต์เอาน้ำลูบหน้าอกครั้นกินข้าวเสร็จก็บอกให้อานันต์รินน้ำจากคนโททิ้งก่อนนิดหนึ่งแล้วจึงดื่ม และก่อนที่อานันต์จะกินหมากพอเอาปูนป้ายที่ใบพลูแล้วจุลทะก็บอกให้เขาเด็ดหางพลูทิ้งก่อนนิดหนึ่งทุกครั้ง
                หลังจากที่อานันต์ทำตามคำบอกเล่าของจุลทะครบถ้วนทุกประการ ปรากฏว่าชายหนุ่มก็ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จากยาพิษของเทวดาองค์นั้นอีกเลย
๒.   เพลงกล่อมเด็กของภาคเหนือ

เพลงกล่อมเด็กมีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว แม่ในสมัยก่อนนิยมร้องเพลงให้ลูกได้หลับอย่างสบาย แต่เพลงกล่อมเด็กเริ่มจะสูญหาย กำลังหายากเหมือนดุจฝนตกหน้าแล้งจะไม่ได้ยินเสียงเห่กล่อมและภาพแม่ไกวเปลลูกอีกแล้ว บทเพลงเห่กล่อมถูกทอดทิ้งให้ละลายหายสูญไป ควรที่อนุชนรุ่นเราและ คุณแม่ ๆ ทั้งหลายจะต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบไป เพลงกล่อมเด็กนั้น นอกจากจะทำให้เด็กเพลินและหลับไปแล้ว ยังได้สะท้อนให้เห็นชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนคติธรรม อันจะปลูกฝังลงไปใน ลูกหลานอีกด้วย ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงกล่อมเด็กของไทยก็คือ เป็นบทร้อยกรองสั้น ๆ บทหนึ่ง ๆ อาจจะมีตั้งแต่ 4 วรรค6 วรรค ไปจนถึง 8 วรรค หรือมากกว่านั้น มีสัมผัส คล้องจองกันไม่กำหนด ตายตัว จำนวนคำในแต่ละวรรคก็ไม่จำกัดแน่นอน อาจมี 4 - 8 คำก็ได้ ผู้เห่กล่อมก็มักจะใช้ทำนองเห่ที่ทอดเสียงช้า ๆ เย็น ๆ เพื่อให้ฟังเพลินจนหลับ เนื้อร้องในเพลงกล่อมเด็กอาจจะจำแนกออกตามลักษณะในการใช้ร้องเห่กล่อมได้ คือ พวกที่ต้องการใช้เพื่อเห่กล่อมให้เด็กเพลิน ปลอบโยนให้เด็กหลับ กับเนื้อร้องพวกที่มี ความหมายเป็นการขู่ หรือหลอกซึ่งเป็นขั้นที่สอง เพราะเด็กอาจร้องกวนไม่ยอมนอน ส่วนที่ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นเนื้อร้องประเภทที่ผู้กล่อมอาจจะระบายความในใจ อบรมสั่งสอนเด็กทางอ้อม บางทีก็อาจจะเป็นทำนอง เยาะเย้ยเสียดสีให้คนโต ๆ อื่น ๆ ฟังก็ได้ หรืออาจจะเป็นคติธรรม ที่เป็นปริศนาใช้สอนใจคนได้ทุกระดับ และยังมีเนื้อเพลงกล่อมเด็กที่เนื้อร้องได้รับอิทธิพลจากนิทาน หรือวรรณคดีต่าง ๆ
เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ
          อื่อ อื่อ อื่อ จา จา หลับสองต๋า
แม่มันไปนานอกบ้าน ไปเก็บบ่าลูกสักมาใส่ส๊า มาเก็บบ่าเขือม้ามาใส่กรวย อื่อ อื่อ อื่อ จา จา  
                                   นอนเหียลูกเน้อ หลับต๋าไปอ้วยซ้วย
 หันไผมาขายกล้วย บ้องจิซื้อหื้อกิน แม่เจ้าไปไส่ เปิ้นจิหมกไข่มาหา แม่เจ้าไปนา เปิ้นจิหมกไข่ป๋ามาป้อน แม่เจ้ามาฮอดแล้ว จึงค่อยตื่นกิ๋นนม
                                                       อือ อือ แม่เอ่อนอน นอนในอู่สายกอน จายอย่าไห้ นอนไหล้จั่งกั๋นหลี
อือ อือ เจ้าจงนอน นอนในเปลสายหย่อน นอน นอน จายเอ่อนอน หลับตาอย่าไห้ นอนไหล้จั่งกั๋นหลี
                                            นอน นอนสา หลับต๋าเน้อน้อง เขามาขายของ แม่สิซื้อไปตาน เขามาขายอาน
แม่สิซื้อหื้อเจ้า แมวโพงเข้า ต๋าหลวงหม่าว
                                                อี่เอ้ยเหย ไก่กิ๋นข้าวยังจาน ฟานกิ๋นน้ำยังท่า จั๊กก่าหวีหัว อี่สัวแยงแว่น
อี่แอ่นแยงเงา นกเขาตากปีก นกสะหลีกสองหาง นายางหว่านกล้า ป่าหญ้าล็อบแล็บ สาวก้นแต็บ แม่ฮ้างก้นกึ่ง
                                                    อี่เอ้ยเหย หมูมึงออกคอก ไส้มันออก ยาวศอกยาววา หลับเหียเต๊อะนา ถ้าแม่มิงมาค่อยตื่น
                                                              ไฟปุ๊ไฟปวง ไฟดวงไฟดาว ผ่อเน้อสาว แม่เฮือนต่างก้าน สาวขี้คร้านล่นไปยืมครัว                                                                                    
เปิ้นมีผิวเปิ้นเอาไว้หย้อง ล่นไปยืมจ้อง กับแม่ก๋ำเดือน ลงเฮือนไป ลูกเปิ้นไห้ สาวขี้ไร้ นุ่งซิ่นดำเขียว นุ่งซิ่นต๋าแหล้ จ๊าดเปิงแต๊แต๊ นุ่งซิ่นยอดไหมดำ
๒.๑ ความหมายของเพลงกล่อมเด็ก
เพลงกล่อมเด็กเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อค่านิยมของคนในท้องถิ่นต่าง ๆ คนทุกชาติทุกภาษาในโลกมีบทเพลงกล่อมเด็กด้วยกันทั้งนั้น สันนิษฐานว่าเพลงกล่อมเด็กมีวิวัฒนาการจากการเล่านิทาน ให้เด็กฟังก่อนนอน ดังนั้น เพลงกล่อมเด็กบางเพลงจึงมีลักษณะเนื้อร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น จันทรโครพ ไชยเชษฐ์ พระรถเสน เป็นต้น การที่ต้องมีเพลงกล่อมเด็กก็เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน หลับง่าย เกิดความอบอุ่นใจ
๒.๒ ลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก
ลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก ลักษณะกลอนของเพลงกล่อมเด็กจะเป็นกลอนชาวบ้าน ไม่มีแบบแผนแน่นอน เพียงแต่มีสัมผัสคล้องจองกันบ้างถ้อยคำที่ใช้ในบางครั้งอาจไม่มีความหมาย เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นความรัก ความห่วงใย ของแม่ที่มีต่อลูก สั่งสอน เสียดสีสังคม เป็นต้น
๒.๓ คุณค่าและประโยชน์ของเพลงกล่อมเด็ก
            เป็นบทร้อยกรองสั้นๆ มีคำคล้องจองต่อเนื่องกันไป
มีฉันทลักษณ์ไม่แน่นอน
ใช้คำง่ายๆสั้นหรือยาวก็ได้
มีจังหวะในการร้องและทำนองที่เรียบง่าย สนุกสนาน จดจำได้ง่าย
และยังมีประโยชน์อื่นๆ อีก คือ
            ๑. ชักชวนให้เด็กนอนหลับ
๒. เนื้อความแสดงถึงความรัก ความห่วงใย ความหวงแหนของแม่ที่มีต่อลูก
๓. แสดงความรักความห่วงใย
๔. กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม
๕. เล่าเป็นนิทานและวรรณคดี
๖. เป็นการเล่าประสบการณ์
๗. ล้อเลียนและเสียดสีสังคม
๘. ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็ก
๙. เป็นคติ คำสอน

๓.    เพลงประกอบการละเล่นของภาคเหนือ
ประเภทของการละเล่น
เนื่องจากการละเล่นของไทยเรานั้นมีมากมายจนนึกไม่ถึง (กรมพลศึกษารวบรวมไว้ได้ถึง 1,200 ชนิด) แต่พอจะแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ การละเล่นกลางแจ้ง และการละเล่นในร่ม และในแต่ละประเภทก็ยังแบ่งย่อยอีกเป็นการละเล่นที่มีบทร้องประกอบ กับที่ไม่มีบทร้องประกอบ
การละเล่นกลางแจ้งที่มีบทร้องประกอบได้แก่ โพงพาง เสือไล่หมู่ อ้ายเข้อ้ายโขง ซ่อนหาหรือโป้งแปะ เอาเถิด มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร ที่มีคำโต้ตอบ เช่น งูกันหาง แม่นาคพระโขนง มะล็อกก๊อกแก็ก เขย่งเก็งกอย ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ล้อต๊อก หยอดหลุม บ้อหุ้น ลูกดิ่ง ลูกข่าง ลูกหิน เตยหรือตาล่อง ข้าวหลามตัด วัวกระทิง ลูกช่วง ห่วงยาง เสือข้ามห้วยเคี่ยว เสือข้ามห้วยหมู่ ตี่จับ แตะหุ่น ตาเขย่ง ยิงหนังสะติ๊ก ปลาหมอ ตกกะทะ ตีลูกล้อ การเล่นว่าว กระโดดเชือกเดี่ยว กระโดดเชือกคู่ กระโดดเชือกหมู่ ร่อนรูป หลุมเมือง ทอดกะทะ หรือหมุนนาฬิกา ขี่ม้าส่งเมือง กาฟักไข่ ตีโป่ง ชักคะเย่อ โปลิศจับขโมย สะบ้า เสือกันวัว ขี่ม้าก้านกล้วย กระดานกระดก วิ่งสามขา วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทน ยิงเป็นก้านกล้วย การละเล่นในร่มที่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ขี้ตู่กลางนา ซักส้าว โยกเยก แมงมุม จับปูดำขยำปูนา จีจ่อเจี๊ยบ เด็กเอ๋ยพาย จ้ำจี้
ที่ไม่มีบทร้องประกอบ ได้แก่ ดีดเม็ดมะขามลงหลุม อีขีดอีเขียน อีตัก เสือตกถัง เสือกันวัว หมากกินอิ่ม สีซอ หมากเก็บ หมากตะเกียบ ปั่นแปะ หัวก้อย กำทาย ทายใบสน ตีไก่ เป่ากบ ตีตบแผละ กัดปลา นาฬิกาทางมะพร้าว กงจักร ต่อบ้าน พับกระดาษ ฝนรูป จูงนางเจ้าห้อง การเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่เช่นเล่นเป็นพ่อเป็นแม่ เล่นแต่งงาน เล่นหม้อข้าวหม้อแกง แคะขนมครกเล่นขายของ เล่นเข้าทรง ทายคำปริศนา นอกจากนั้นยังมีทบร้องเล่น เช่น จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกงแกง....และบทล้อเลียน เช่น ผมจุก คลุกน้ำปลา เห็นขี้หมานั่งไหว้กระจ๊องหง่อง เป็นต้น การละเล่นที่เล่นกลางแจ้งหรือในร่มก็ได้ที่ไม่มีบทร้อง ได้แก่ ลิงชิงหลัก ขายแตงโม เก้าอี้ดนตรี แข่งเรือคน ดมดอกไม้ปิดตาตีหม้อ ปิดตาต่อหาง โฮกปี๊บ เป่ายิงฉุบ
            ๓.๑ ตัวอย่างเพลงประกอบการละเล่นภาคเหนือ
ปะเปิ้มใบพลู (จ้ำจี้)  ของเด็กเหนือ เป็นการละเล่นเพื่อเสี่ยงทาย เลือกข้าง ผู้เล่นนั่งล้อมวงกัน วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้นคนละมือ คนหนึ่งในวงจะร้องว่า
“ปะเปิ้มใบพลู คนใดมาจู เอากูออกก่อน”
หรือ “จำปุ่นจำปู ปั๋วใครมาดู เอากูออกก่อน”
หรือ “จ้ำจี้จ้ำอวด ลูกมึงไปบวช สึกออกมาเฝียะอีหล้าท้องป่อง”
๔.    ตำนานของภาคเหนือ

ตำนานเรื่องท้าวแสนปม
พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน นอกจากเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ เช่น ชากังราว นครชุม ยังมีอีกเมืองหนึ่งคือเมืองไตรตรึงษ์  ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ เรียกว่าศิลาจารึก กล่าวไว้ว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสนหนีพม่ามาจากเชียงราย   เป็นผู้สร้างเมืองไตรตรึงษ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐ จากซากกำแพงเมืองที่ยังปรากฏเห็น พบว่าตัวเมืองไตรตรึงษ์เป็นรูปสี่เหลี่ยม   ผืนผ้าขนานกับแม่น้ำปิง ขนาดกว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร มีทางเข้าสู่เมือง ๒ ทาง
ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานทางศาสนาหลายแห่ง วัดสำคัญในกำแพงเมืองมี ๒ วัด คือวัดเจ็ดยอด และวัดพระปรางค์ ภายนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้มีวัดขนาดใหญ่เรียกว่า วัดวังพระธาตุ ที่วัดนี้มีเจดีย์ทรงไทยหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเจดีย์หลัก รอบๆ มีเจดีย์รายทั้ง ๕ ทิศ ขุดค้นทางโบราณคดีพบลูกปัดหินสีภายในบริเวณวัด ตะเกียงโบราณแบบโรมัน และชิ้นเครื่องเคลือบลายครามขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป ทุกวันนี้เมืองไตรตรึงษ์อยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไตรตรึงษ์ยังมีตำนานเล่าขาน ที่อิงกับประวัติศาสตร์ถึงกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา นั่นคือตำนานเรื่อง 'ท้าวแสนปม'เรื่องราวโดยย่อมีว่า เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาผู้ทรงสิริโฉม และที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า แสนปม มีอาชีพปลูกผัก มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานึกอยากเสวยมะเขือ นางข้าหลวงพบมะเขือในสวนของแสนปมลูกใหญ่อวบ จึงซื้อไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยมะเขือของแสนปมได้ไม่นานก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้า พยายามสอบถามอย่างไรพระธิดาก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือพ่อของเด็ก ครั้นเมื่อพระกุมารเติบโตพอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้ขุนนางและเหล่าราษฎรทั้งหลายนำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกินของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาผู้ชายทุกคน พากันมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานไปหาใครเลย เจ้าเมืองจึงให้เสนาไปตามแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทาย แสนปมจึงมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งถือก้อนข้าวเย็นมา ๑ ก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐาน และยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา
ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว ที่พระธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่อัปลักษณ์ จึงขับไล่ออกจากวัง แสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ตีเอาตามได้ดังสารพัดนึก แสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า เมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข ท้าวแสนปมใช้ทองคำมาทำเป็นอู่(เปล)ให้พระโอรส และตั้งชื่อพระโอรสว่า 'อู่ทองต่อมาพระเจ้าอู่ทองจึงย้ายเมืองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา จากความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่าน เรียกชื่อราชวงศ์อู่ทอง อีกชื่อว่าราชวงศ์เชียงราย
ละเว้นจากเรื่องราวในตำนาน ปัจจุบันแนวคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายราชวงศ์เชียงราย ยังคงเป็นหนึ่งในหลายแนวคิดเรื่องที่มาของพระองค์ และก็ยังไม่ถูกตัดออกไป จึงพอจะอนุมานได้ทางหนึ่งว่า เมืองไตรตรึงษ์คือต้นทางแห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ตำนานของนครไตรตรึงษ์ อีกเรื่องหนึ่ง เล่าว่า เจ้านครองค์นี้มีพระธิดา นามว่า อุษา มีรูปโฉมงดงามร่ำลือไปถึงเมืองศิริไชยเชียงแสน เจ้าชายชินเสนจึงปลอมตนเป็นชายอัปลักษณ์ เนื้อตัวมีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด แล้วเข้าไปขออาศัยอยู่กับตายายที่เฝ้าอุทยานท้ายวังนครไตรตรึงษ์ได้ชื่อเรียกว่า "แสนปม"  วันหนึ่งนางอุษาออกมาชมสวน แสนปมแอบมาดูนางแล้วเกิดความรักจึงนำผักที่ปลูกไว้ไปถวาย เมื่อนางอุษาเห็นแสนปมก็นึกรักเช่นเดียวกัน จึงให้พี่เลี้ยงนำหมากไปให้เป็นของตอบแทน แสนปมได้สลักมะเขือเป็นสารเกี้ยวพาราสีนางแล้วส่งไปถวายอีก นางอุษาก็ตอบสารในทีรับรักใส่ในห่อหมากแล้วฝากมาให้แก่แสนปม แสนปมจึงทราบว่านางก็รักตนเช่นเดียวกัน คืนหนึ่งแสนปมลอบเข้าไปหานางในวัง แล้วทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครทราบเรืองจนกระทั่งนางอุษาตั้งครรภ์  ต่อมาแสนปมได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าศิริชยเชียงแสนประชวรหนัก จึงเดินทางกลับบ้านเมืองโดยไม่ทราบว่านางอุษาตั้งครรภ์ เวลาผ่านไปนางอุษาให้กำเนิดกุมารหน้าตาน่ารัก ยังความทุกข์ใจมาให้แก่เจ้านครไตรตรึงษ์ยิ่งนัก เพราะนางอุษาไม่ยอมบอกความจริง เจ้านครไตรตรึงษ์จึงหาวิธีที่จะให้รู้แน่ว่าใครเป็นบิดาของกุมาร จึงป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งทวยราษฎร์มาพร้อมกันที่หน้าพระลานพร้อมทั้งให้นำขนมนมเนยติดมือมาด้วย ถ้ากุมารรับขนมจากมือผู้ใดก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบิดาของกุมารและจะได้อภิเษกกับนางอุษา  พระชินเสนได้ข่าวก็เตรียมรี้พลมา ตั้งพระทัยจะอภิเษกกับนางอุษาให้ได้ แล้วปลอมตัวเป็นแสนปมพร้อมทั้งนำข้าวเย็นมาก้อนหนึ่งเพื่อให้กุมารเลือก ครั้นถึงเวลาที่กำหนดจึงให้กุมารเลือกขนมจากบรรดาผู้ที่นำมา ปรากฎว่ากุมารรับข้าวเย็นจากแสนปมไปเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายอย่างมากด้วยความโกรธจึงขับไล่นางอุษาออกจากเมืองโดยทันที แสนปมจึงแสดงตนให้รู้ว่าตนเองคือ พระชินเสน แล้วพานางอุษาและกุมารเดินทางกลับอาณาจักรศิริไชยเชียงแสนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  กุมารองค์นี้กล่าวว่ามีผู้นำอู่ทองคำมาถวาย จึงได้นามว่าอู่ทอง ต่อมาได้สร้างเมืองทวารวดีศรีอยุธยา และขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา  บริเวณวัดวังพระธาตุ  ด้านหน้าวัดมีศาลของท้าวแสนปมและในบริเวณวัด มีรูปปั้นท้าวแสนปม ที่คนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ ในฐานะเป็นตำนานของท้าวแสนปม ผู้สร้างเมืองเทพนคร ฝั่งตรงกันข้ามกับนครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน  นอกจากคำเล่าขานของชาวบ้านแล้ว       ท้าวแสนปมตามตำนานในต้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่าในจุลศักราช ๖๘๑ พ.ศ. ๑๘๖๒ ท้าวแสนปม ได้ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองเทพนครและขึ้นครองราชย์สมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนครองราชย์สมบัติ ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช ๗๐๖ พ.ศ. ๑๘๘๗ ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองได้ชื่อเช่นนี้เพราะ  เพราะพระราชบิดานำทองคำมาทำเป็นอู่ให้นอน จึงขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงและทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑

บรรณานุกรม

วิกิพีเดีย.  (๒๕๕๗). วรรณกรรมพื้นบ้าน.   สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗  จาก :   
มุสลิมไทยโพสต์.  (มปป.).  นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ.  สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗ 
เพื่อนบ้านของเรา. (มปป.).  นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ทำดีได้ดี.  สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗ 
วิกิพีเดีย.  (๒๕๕๑).  เพลงกล่อมเด็กภาคเหนือ.  สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗ 
tungsong.  (มปป.).  การละเล่นของเด็กไทย.  สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗ 
Acttifact-ab-.  ๒๕๕๕.  ตำนานท้าวแสนปม.   สืบค้นเมื่อ ๒๔  สิงหาคม  ๒๕๕๗ 

จาก : http://acttifact.blogspot.com/2012/12/blog-post.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น